Featured Articles
All Stories

26 ก.พ. 2559

พระไตรปิฎก


ความหมายของพระไตรปิฎก

ไตรปิฎก "ปิฎกสาม"; ปิฎก แปลตามศัพท์อย่างพื้นๆ ว่า กระจาดหรือตะกร้า อันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่างๆ เข้าไว้ นำมาใช้ในความหมายว่า เป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้วโดยนัยนี้  ไตรปิฎกจึงแปลว่า คัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์ (และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา) ๓ ชุด หรือ ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด กล่าวคือ วินัยปิฎก  สุตตันตปิฎก  และอภิธรรมปิฎก  ;  พระไตรปิฎก จัดแบ่งหมวดหมู่โดยย่อดังนี้

๑. พระวินัยปิฎก

ประมวลพุทธพจน์หมวดพระวินัย คือพุทธบัญญัติเกี่ยวกับความประพฤติ ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมและการดำเนินกิจการต่างๆ ของภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์แบ่งเป็น ๕ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า อา ปา ม จุ ป) คือ
     ๑) อาทิกัมมิกะ หรือ ปาราชิก ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติหนักของฝ่ายภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ปาราชิกถึงอนิยต
     ๒) ปาจิตตีย์ ว่าด้วยสิกขาบทที่เกี่ยวกับอาบัติเบา ตั้งแต่นิสสัคคิยปาจิตตีย์ถึงเสขิยะ รวมตลอดทั้งภิกขุนีวิภังค์ทั้งหมด
     ๓) มหาวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนต้น ๑๐ ขันธกะ หรือ ๑๐ ตอน
     ๔) จุลวรรค ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ตอนปลาย ๑๒ ขันธกะ
     ๕) ปริวาร คัมภีร์ประกอบหรือคู่มือ บรรจุคำถามคำตอบสำหรับซ้อมความรู้พระวินัย

พระวินัยปิฎกนี้ แบ่งอีกแบบหนึ่งเป็น ๕ คัมภีร์เหมือนกัน (จัด ๒ ข้อในแบบต้นนั้นใหม่)คือ
     ๑) มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ (ศีล ๒๒๗ ข้อ) ฝ่ายภิกษุสงฆ์
     ๒) ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ (ศีล ๓๑๑ ข้อ) ฝ่ายภิกษุณีสงฆ์
     ๓) มหาวรรค
     ๔) จุลวรรค
     ๕) ปริวาร

บางทีท่านจัดให้ย่นย่อเข้าอีก แบ่งพระวินัยปิฎกเป็น ๓ หมวด คือ
     ๑) วิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบทในปาฏิโมกข์ทั้งฝ่ายภิกษุสงฆ์และฝ่ายภิกษุณีสงฆ์ (คือรวมข้อ ๑ และ ๒ ข้างต้นทั้งสองแบบเข้าด้วยกัน)
     ๒) ขันธกะ ว่าด้วยสิกขาบทนอกปาฏิโมกข์ทั้ง ๒๒ ขันธกะหรือ ๒๒ บทตอน (คือรวมข้อ ๓ และ ๔ เข้าด้วยกัน)
     ๓) ปริวาร ว่า คัมภีร์ประกอบ (คือข้อ ๕ ข้างบน)

๒. พระสุตตันตปิฎก

ประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร คือ พระธรรมเทศนา คำบรรยายธรรมต่างๆ ที่ตรัสยักเยื้องให้เหมาะกับบุคคลและโอกาสตลอดจนบทประพันธ์ เรื่องเล่า และเรื่องราวทั้งหลายที่เป็นชั้นเดิมในพระพุทธศาสนา แบ่งเป็น ๕ นิกาย (เรียกย่อหรือหัวใจว่า ที ม สํ อํ ขุ) คือ
     ๑) ทีฆนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีขนาดยาว ๓๔ สูตร
     ๒) มัชฌิมนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่มีความยาวปานกลาง ๑๕๒ สูตร
     ๓) สังยุตตนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นกลุ่มๆ เรียกว่าสังยุตต์หนึ่งๆ ตามเรื่องที่เนื่องกัน หรือตามหัวข้อหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องรวม ๕๖ สังยุตต์ มี ๗,๗๖๒ สูตร
     ๔) อังคุตตรนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นหมวดๆ เรียกว่านิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม รวม ๑๑ นิบาต หรือ ๑๑ หมวดธรรม มี ๙,๕๕๗ สูตร
     ๕) ขุททกนิกาย ชุมนุมพระสูตร คาถาภาษิต คำอธิบาย และเรื่องราวเบ็ดเตล็ดที่จัดเข้าในสี่นิกายแรกไม่ได้มี ๑๕ คัมภีร์

๓. พระอภิธรรมปิฎก

ประมวลพระพุทธพจน์หมวดพระอภิธรรม คือ หลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่เกี่ยวด้วยบุคคลหรือเหตุการณ์ แบ่งเป็น ๗ คัมภีร์ (เรียกย่อหรือหัวใจว่า สํ วิ ธา ปุ ก ย ป) คือ
     ๑) สังคณี หรือ ธัมมสังคณี รวมข้อธรรมเข้าเป็นหมวดหมู่แล้วอธิบายทีละประเภท ๆ
     ๒) วิภังค์ ยกหมวดธรรมสำคัญ ๆ ขึ้นตั้งเป็นหัวเรื่องแล้วแยกแยะออกอธิบายชี้แจงวินิจฉัยโดยละเอียด
     ๓) ธาตุกถา สงเคราะห์ข้อธรรมต่าง ๆ เข้าในขันธ์ อายตนะ ธาตุ
     ๔) ปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของบุคคลประเภทต่างๆ ตามคุณธรรมที่มีอยู่ในบุคคลนั้นๆ
     ๕) กถาวัตถุ แถลงและวินิจฉัยทัศนะของนิกายต่างๆ สมัยสังคายนาครั้งที่ ๓
     ๖) ยมก ยกหัวข้อธรรมขึ้นวินิจฉัยด้วยวิธีถามตอบ โดยตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ
     ๗) ปัฏฐาน หรือ มหาปกรณ์ อธิบายปัจจัย๒๔ แสดงความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันแห่งธรรมทั้งหลายโดยพิสดาร

พระไตรปิฎกที่พิมพ์ด้วยอักษรไทยท่านจัดแบ่งเป็น ๔๕ เล่ม แสดงพอให้เห็นรูปเค้าดังนี้

ก. พระวินัยปิฎก ๘ เล่ม

     เล่ม ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑ ว่าด้วยปาราชิก สังฆาทิเสส และอนิยตสิกขาบท(สิกขาบทในปาฏิโมกข์ฝ่ายภิกษุสงฆ์ ๑๙ ข้อแรก)
     เล่ม ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒ ว่าด้วยสิกขาบทเกี่ยวกับอาบัติเบาของภิกษุ(เป็นอันครบสิกขาบท ๒๒๗ หรือ ศีล ๒๒๗)
     เล่ม ๓ ภิกขุนีวิภังค์ ว่าด้วยสิกขาบท ๓๑๑ ของภิกษุณี
     เล่ม ๔ มหาวรรค ภาค ๑ มี ๔ ขันธกะ ว่าด้วยการอุปสมบท (เริ่มเรื่องตั้งแต่ตรัสรู้และประดิษฐานพระศาสนา) อุโบสถ จำพรรษา และปวารณา
     เล่ม ๕ มหาวรรค ภาค ๒ มี ๖ ขันธกะ ว่าด้วยเรื่องเครื่องหนังเภสัช กฐิน จีวร นิคหกรรม และการทะเลาะวิวาทและสามัคคี
     เล่ม ๖ จุลวรรค ภาค ๑ มี ๔ ขันธกะ ว่าด้วยเรื่องนิคหกรรม วุฏฐานวิธีและการระงับอธิกรณ์
     เล่ม ๗ จุลวรรค ภาค ๒ มี ๘ ขันธกะ ว่าด้วยข้อบัญญัติปลีกย่อยเรื่องเสนาสนะ สังฆเภท วัตรต่างๆ การงดสวดปาฏิโมกข์ เรื่องภิกษุณี เรื่องสังคายนาครั้งที่ ๑ และครั้งที่ ๒
     เล่ม ๘ ปริวาร คู่มือถามตอบซ้อมความรู้พระวินัย

ข. พระสุตตันปิฎก ๒๕ เล่ม

๑. ทีฆนิกาย ๓ เล่ม
     เล่ม ๙ สีลขันธวรรค มีพระสูตรขนาดยาว ๑๓ สูตร หลายสูตรกล่าวถึงจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล
     เล่ม ๑๐ มหาวรรค มีพระสูตรยาว ๑๐ สูตร ส่วนมากชื่อเริ่มด้วย "มหา" เช่น มหาปรินิพพานสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร เป็นต้น
     เล่ม ๑๑ ปาฏิกวรรค มีพระสูตรยาว ๑๑ สูตร เริ่มด้วยปาฏิกสูตร หลายสูตรมีชื่อเสียงเช่น จักกวัตติสูตร อัคคัญญสูตร สิงคาลกสูตร และสังคีติสูตร

๒. มัชฌิมนิกาย ๓ เล่ม
     เล่ม ๑๒ มูลปัณณาสก์ บั้นต้น มีพระสูตรขนาดกลาง ๕๐ สูตร
     เล่ม ๑๓ มัชฌิมปัณณาสก์ บั้นกลางมีพระสูตรขนาดกลาง ๕๐ สูตร
     เล่ม ๑๔ อุปริปัณณาสก์ บั้นปลายมีพระสูตรขนาดกลาง ๕๒ สูตร

๓. สังยุตตนิกาย ๕ เล่ม
     เล่ม ๑๕ สคาถวรรค รวมคาถาภาษิตที่ตรัสและกล่าวตอบบุคคลต่างๆ เช่น เทวดามาร ภิกษุณี พราหมณ์ พระเจ้าโกศล เป็นต้น จัดเป็นกลุ่มเรื่องตามบุคคลและสถานที่ มี ๑๑ สังยุตต์
     เล่ม ๑๖ นิทานวรรค ครึ่งเล่มว่าด้วยเหตุปัจจัย คือหลักปฏิจจสมุปบาท นอกนั้น มีเรื่องธาตุ การบรรลุธรรม สังสารวัฏ ลาภสักการะ เป็นต้น จัด เป็น ๑๐ สังยุตต์
     เล่ม ๑๗ ขันธวารวรรค ว่าด้วยเรื่องขันธ์ ๕ ในแง่มุมต่างๆ มีเรื่องเบ็ดเตล็ดรวมทั้งเรื่อง สมาธิและทิฏฐิต่างๆ ปะปนอยู่บ้าง จัดเป็น ๑๓ สังยุตต์
     เล่ม ๑๘ สฬายตนวรรค เกือบครึ่งเล่มว่าด้วยอายตนะ ๖ ตามแนวไตรลักษณ์ เรื่องอื่นมีเบญจศีล ข้อปฏิบัติให้ถึงอสังขตะ อันตคาหิกทิฏฐิ เป็นต้น จัดเป็น ๑๐ สังยุตต์
     เล่ม ๑๙ มหาวรรค ว่าด้วยโพธิปักขิยธรรม ๓๗ แต่เรียงลำดับเป็นมรรค โพชฌงค์ สติปัฏฐาน อินทรีย์ สัมมัปปธานพละ อิทธิบาท รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น นิวรณ์ สังโยชน์ อริยสัจจ์ ฌาน ตลอดถึงองค์คุณของพระโสดาบันและอานิสงส์ของการบรรลุโสดาปัตติผล จัดเป็น ๑๒ สังยุตต์ (พึงสังเกตว่าคัมภีร์นี้เริ่มต้นด้วยการย้ำความสำคัญของความมีกัลยาณมิตร เป็นจุดเริ่มต้นเข้าสู่มรรค)

๔. อังคุตตรนิกาย ๕ เล่ม
     เล่ม ๒๐ เอก-ทุก-ติกนิบาต ว่าด้วยธรรม หมวด ๑ หมวด ๒ หมวด ๓ รวมทั้งเรื่องเอตทัคคะ
     เล่ม ๒๑ จตุกกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๔
     เล่ม ๒๒ ปัญจก-ฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๕-๖
     เล่ม ๒๓ สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๗-๘-๙
     เล่ม ๒๔ ทสก-เอกาทสกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๑๐-๑๑
   
     ในอังคุตตรนิกายมีข้อธรรมหลากหลายลักษณะ ตั้งแต่ทิฏฐธัมมิกัตถะถึงปรมัตถะ ทั้งสำหรับบรรพชิต และสำหรับคฤหัสถ์ กระจายกันอยู่โดยเรียงตามจำนวน

๕. ขุททกนิกาย ๙ เล่ม
     เล่ม ๒๕ รวมคัมภีร์ย่อย ๕ คือ ขุททกปาฐะ(บทสวดย่อยๆ โดยเฉพาะมงคลสูตร รตนสูตร กรณียเมตตสูตร) ธรรมบท(เฉพาะตัวคาถาทั้ง ๔๒๓) อุทาน(พุทธอุทาน ๘๐) อิติวุตตกะ(พระสูตรที่ไม่ขึ้นต้นด้วย "เอวมฺเม สุตํ" แต่เชื่อมความเข้าสู่คาถาด้วยคำว่า "อิติ วุจฺจติ" รวม ๑๑๒ สูตร) และสุตตนิบาต(ชุมนุมพระสูตรชุดพิเศษ ซึ่งเป็นคาถาล้วนหรือมีความนำเป็นร้อยแก้ว รวม ๗๑ สูตร)
     เล่ม ๒๖ มีคัมภีร์ย่อยที่เป็นคาถาล้วน ๔ คือ วิมานวัตถุ(เรื่องผู้เกิดในสวรรค์อยู่วิมาน เล่าการทำความดีของตนในอดีต ที่ทำให้ได้ไปเกิดเช่นนั้น ๘๕ เรื่อง) เปตวัตถุ(เรื่องเปรตเล่ากรรมชั่วในอดีตของตน ๕๑ เรื่อง) เถรคาถา(คาถาของพระอรหันตเถระ ๒๖๔ รูปที่กล่าวแสดงความรู้สึกสงบประณีตในการบรรลุธรรมเป็นต้น) เถรีคาถา(คาถาของพระอรหันตเถรี ๗๓ รูป ที่กล่าวแสดงความรู้สึกเช่นนั้น)
     เล่ม ๒๗ ชาดก ภาค ๑ รวมคาถาแสดงคติธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสเมื่อครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ในอดีตชาติ และมีคาถาภาษิตของผู้อื่นปนอยู่บ้าง ภาคแรก ตั้งแต่เรื่องที่มีคาถาเดียว (เอกนิบาต) ถึงเรื่องมี ๔๐ คาถา (จัตตาฬีสนิบาต)รวม ๕๒๕ เรื่อง
     เล่ม ๒๘ ชาดก ภาค ๒ รวมคาถาอย่างในภาค ๑ นั้น เพิ่มอีก แต่เป็นเรื่องอย่างยาว ตั้งแต่เรื่องมี ๕๐ คาถา (ปัญญาสนิบาต) ถึงเรื่องมีคาถามากมาย (มหานิบาต) จบลงด้วยมหาเวสสันดรชาดก ซึ่งมี ๑,๐๐๐ คาถา รวมอีก ๒๒ เรื่องบรรจบทั้งสองภาค เป็น ๕๔๗ ชาดก
     เล่ม ๒๙ มหานิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตร ในอัฏฐกวรรคแห่งสุตตนิบาต
     เล่ม ๓๐ จูฬนิทเทส ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายขยายความพระสูตร ๑๖ สูตร ในปารายนวรรคและขัคควิสาณสูตร ในอุรควรรค แห่งสุตตนิบาต
เล่ม ๓๑ ปฏิสัมภิทามรรค ภาษิตของพระสารีบุตรอธิบายข้อธรรมที่ลึกซึ้งต่างๆ เช่นเรื่อง ญาณ ทิฏฐิ อานาปานอินทรีย์ วิโมกข์ เป็นต้น อย่างพิสดาร เป็นทางแห่งปัญญาแตกฉาน
     เล่ม ๓๒ อปทาน ภาค ๑ คาถาประพันธ์แสดงประวัติโดยเฉพาะในอดีตชาติ เริ่มด้วยพุทธอปทาน (ประวัติของพระพุทธเจ้า) ปัจเจกพุทธอปทาน (เรื่องราวของพระปัจเจกพุทธเจ้า) ต่อด้วยเถรอปทาน (อัตตประวัติแห่งพระอรหันตเถระ) เรียงลำดับเริ่มแต่พระสารีบุตร ตามด้วยพระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสปะ พระอนุรุทธ พระปุณณมันตานีบุตร พระอุบาลี พระอัญญาโกณฑัญญะ พระปิณโฑลภารทวาชะ พระขทิรวนิยเรวตะ พระอานนท์ ต่อเรื่อยไปจนจบภาค ๑ รวม พระอรหันตเถระ ๔๑๐ รูป
     เล่ม ๓๓ อปทาน ภาค ๒ คาถาประพันธ์แสดงอัตตประวัติพระอรหันตเถระต่ออีกจนถึงรูปที่ ๕๕๐ ต่อนั้น เป็นเถรีอปทานแสดงเรื่องราวของพระอรหันตเถรี ๔๐ เรื่อง เริ่มด้วยพระเถรีที่ไม่คุ้นนาม ๑๖ รูป ต่อด้วยพระเถรีที่สำคัญเรียงลำดับคือพระมหาปชาบดีโคตมี พระเขมา พระอุบลวรรณา พระปฏาจารา พระกุณฑลเกสี พระกีสาโคตมี พระธรรมทินนา พระสกุลา พระนันทา พระโสณา พระภัททกาปิลานี พระยโสธรา และท่านอื่นๆ ต่อไปจนจบ ครั้นจบอปทานแล้ว ท้ายเล่ม ๓๓ นี้ มีคัมภีร์ พุทธวงส์ เป็นคาถาประพันธ์แสดงเรื่องของพระพุทธเจ้าในอดีต ๒๔ พระองค์ที่พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเคยได้ทรงเฝ้าและได้รับพยากรณ์จนถึงประวัติของพระองค์เองรวมเป็นพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ จบแล้วมีคัมภีร์สั้นๆ ชื่อ จริยาปิฎก เป็นท้ายสุด แสดงพุทธจริยาในอดีตชาติ ๓๕ เรื่องที่มีแล้วในชาดก แต่เล่าด้วยคาถาประพันธ์ใหม่ ชี้ตัวอย่างการบำเพ็ญบารมีบางข้อ

ค. พระอภิธรรมปิฎก ๑๒ เล่ม

     เล่ม ๓๔ ธัมมสังคณี ต้นเล่มแสดง มาติกา (แม่บท) อันได้แก่บทสรุปแห่งธรรมทั้งหลายที่จัดเป็นชุดๆ มีทั้งชุด ๓ เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างประดามีเป็นกุศลธรรม อกุศลธรรม อัพยากฤตธรรม ชุดหนึ่ง เป็นอดีตธรรม อนาคตธรรม ปัจจุบันธรรม ชุดหนึ่ง ฯลฯ  และชุด ๒ เช่น จัดทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสังขตธรรม อสังขตธรรม ชุดหนึ่ง รูปีธรรม อรูปีธรรม ชุดหนึ่ง โลกียธรรม โลกุตตรธรรม ชุดหนึ่งเป็นต้น รวมทั้งหมดมี ๑๖๔ ชุด หรือ ๑๖๔ มาติกา จากนั้นขยายความมาติกาที่ ๑ เป็นตัวอย่าง แสดงให้เห็นกุศลธรรม อกุศลธรรม และอัพยากฤตธรรมที่กระจายออกไปโดยจิต เจตสิก รูป และนิพพาน ท้ายเล่มมีอีก ๒ บท แสดงคำอธิบายย่อหรือคำจำกัดความข้อธรรมทั้งหลายในมาติกาที่กล่าวถึงข้างต้นจนครบ ๑๖๔ มาติกา ได้คำจำกัดความข้อธรรมใน ๒ บท เป็น ๒ แบบ (แต่บทท้ายจำกัดความไว้เพียง ๑๒๒ มาติกา)
     เล่ม ๓๕ วิภังค์ ยกหลักธรรมสำคัญ ๆ ขึ้นมาแจกแจงแยกแยะอธิบายกระจายออกให้เห็นทุกแง่จนชัดเจนจบไปเป็นเรื่องๆ รวมอธิบายทั้งหมด ๑๘ เรื่อง คือ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘อริยสัจจ์ ๔ อินทรีย์ ๒๒ ปฏิจจสมุปบาทสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ฌาน อัปปมัญญา ศีล ๕ ปฏิสัมภิทา ๔ ญาณประเภทต่าง ๆ และเบ็ดเตล็ดว่าด้วยอกุศลธรรมต่างๆ อธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่าวิภังค์ของเรื่องนั้นๆ เช่นอธิบายขันธ์ ๕ ก็เรียกขันธวิภังค์ เป็นต้น รวมมี ๑๘ วิภังค์
     เล่ม ๓๖ ธาตุกถา นำข้อธรรมในมาติกาทั้งหลายและข้อธรรมอื่นๆ อีก ๑๒๕ อย่าง มาจัดเข้าในขันธ์ ๕ อายตนะ๑๒ และธาตุ ๑๘ ว่าข้อใดได้หรือไม่ได้ในอย่างไหนๆ และปุคคลบัญญัติ บัญญัติความหมายของชื่อที่ใช้เรียกบุคคลต่างๆ ตามคุณธรรม เช่นว่า “โสดาบัน” ได้แก่ บุคคลผู้ละสังโยชน์๓ ได้แล้ว ดังนี้เป็นต้น
     เล่ม ๓๗ กถาวัตถุ คัมภีร์ที่พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ประธานการสังคายนาครั้งที่ ๓ เรียบเรียงขึ้น เพื่อแก้ความเห็นผิดของนิกายต่างๆ ในพระพุทธศาสนาครั้งนั้น ซึ่งได้แตกแยกกันออกแล้วถึง ๑๘ นิกาย เช่นความเห็นว่า พระอรหันต์เสื่อมจากอรหัตตผลได้ เป็นพระอรหันต์พร้อมกับการเกิดได้ ทุกอย่างเกิดจากกรรมเป็นต้น ประพันธ์เป็นคำปุจฉาวิสัชนา มีทั้งหมด ๒๑๙ กถา
     เล่ม ๓๘ ยมก ภาค ๑ คัมภีร์อธิบายหลักธรรมสำคัญให้เห็นความหมายและขอบเขตอย่างชัดเจน และทดสอบความรู้อย่างลึกซึ้ง ด้วยวิธีตั้งคำถามย้อนกันเป็นคู่ๆ (ยมก แปลว่า คู่) เช่นถามว่า ธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศล เป็นกุศลมูล หรือว่าธรรมทั้งปวงที่เป็นกุศลมูล เป็นกุศล, รูป (ทั้งหมด) เป็นรูปขันธ์ หรือว่ารูปขันธ์(ทั้งหมด) เป็นรูป, ทุกข์ (ทั้งหมด)เป็นทุกขสัจจ์ หรือว่าทุกขสัจจ์ (ทั้งหมด) เป็นทุกข์ หลักธรรมที่นำมาอธิบายในเล่มนี้มี ๗ คือ มูล (เช่นกุศลมูล) ขันธ์ อายตนะ ธาตุ สัจจะ สังขาร อนุสัย ถามตอบอธิบายเรื่องใด ก็เรียกว่ายมกของเรื่องนั้นๆ เช่น มูลยมก ขันธยมก เป็นต้น เล่มนี้จึงมี ๗ ยมก
     เล่ม ๓๙ ยมก ภาค ๒ ถามตอบอธิบายหลักธรรมเพิ่มเติมจากภาค ๑ อีก ๓ เรื่อง คือ จิตตยมก ธรรมยมก (กุศล-อกุศล-อัพยากตธรรม) อินทรียยมก บรรจบเป็น ๑๐ ยมก
     เล่ม ๔๐ ปัฏฐาน ภาค ๑ คัมภีร์ปัฏฐานอธิบายปัจจัย ๒๔ โดยพิสดาร แสดงความสัมพันธ์อิงอาศัยเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแง่ด้านต่างๆ ธรรมที่นำมาอธิบายก็คือข้อธรรมที่มีในมาติกาคือแม่บทหรือบทสรุปธรรม ซึ่งกล่าวไว้แล้วในคัมภีร์สังคณีนั่นเอง แต่อธิบายเฉพาะ ๑๒๒ มาติกาแรกที่เรียกว่า อภิธรรมมาติกา ปัฏฐานเล่มแรกนี้อธิบายความหมายของปัจจัย ๒๔ เป็นการปูพื้นความเข้าใจเบื้องต้นก่อน จากนั้นจึงเข้าสู่เนื้อหาของเล่ม คือ อนุโลมติกปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โดยปัจจัย ๒๔ นั้น เช่นว่ากุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย (เพราะศรัทธา จึงให้ทาน จึงสมาทานศีล จึงบำเพ็ญฌาน จึงเจริญวิปัสสนา ฯลฯ) กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย (คิดถึงทานที่ตนได้ให้ ศีลที่ได้รักษาแล้ว ดีใจ ยึดเป็นอารมณ์แน่นหนาจนเกิดราคะ ทิฏฐิ, มีศรัทธา มีศีล มีปัญญา แล้วเกิดมานะว่า ฉันดีกว่า เก่งกว่า หรือเกิด
ทิฏฐิว่า ต้องทำอย่างเรานี้เท่านั้นจึงถูกต้อง ฯลฯ) อกุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่กุศลธรรมโดยอุปนิสสยปัจจัย (เพราะความอยากบางอย่าง หรือเพราะมานะหรือทิฏฐิ จึงให้ทาน จึงรักษาศีล จึงทำฌานให้เกิด ฯลฯ) กุศลธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (คิดถึงฌานที่ตนเคยได้แต่มาเสื่อมไปเสียแล้ว เกิดความโทมนัส ฯลฯ) อย่างนี้เป็นต้น (เล่มนี้อธิบายแต่ในเชิงอนุโลมคือตามนัยปกติไม่อธิบายตามนัยปฏิเสธจึงเรียกว่าอนุโลมปัฏฐาน)
     เล่ม ๔๑ ปัฏฐาน ภาค ๒ อนุโลมติกปัฏฐาน ต่อ คือ อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๓ ต่อจากเล่ม ๔๐ เช่น อดีตธรรมเป็นปัจจัยแก่ปัจจุบันธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (พิจารณารูปเสียงเป็นต้น ที่ดับเป็นอดีตไปแล้วว่าเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดความโทมนัสขึ้น ฯลฯ) เป็นต้น
     เล่ม ๔๒ ปัฏฐาน ภาค ๓ อนุโลมทุกปัฏฐาน อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) เช่น โลกียธรรมเป็นปัจจัยแก่โลกียธรรม โดยอารัมมณปัจจัย (รูปายตนะ เป็นปัจจัยแก่จักขุวิญญาณ ฯลฯ) ดังนี้ เป็นต้น
     เล่ม ๔๓ ปัฏฐาน ภาค ๔ อนุโลมทุกปัฏฐาน ต่อ
     เล่ม ๔๔ ปัฏฐาน ภาค ๕ ยังเป็นอนุโลมปัฏฐาน แต่อธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายในแม่บทต่างๆข้ามชุดกันไปมา ประกอบด้วยอนุโลมทุกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) เช่น อธิบาย "กุศลธรรมที่เป็นโลกุตตรธรรม เป็นปัจจัยแก่กุศลธรรม ที่เป็นโลกียธรรม โดยอธิปติปัจจัย" เป็นอย่างไร เป็นต้น อนุโลมติกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) อนุโลมติกติกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) กับธรรมในแม่บทชุด ๓ (ติกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน เช่นอธิบายว่า "กุศลธรรมที่เป็นอดีตธรรมเป็นปัจจัยแก่อกุศลธรรมที่เป็นปัจจุบันธรรม" เป็นอย่างไร เป็นต้น อนุโลมทุกทุกปัฏฐาน ธรรมในแม่บทชุด ๒ (ทุกมาติกา) กับธรรมในบทชุด ๒ (ทุกมาติกา) โยงระหว่างต่างชุดกัน เช่นชุดโลกียะ โลกุตตระ กับชุดสังขตะอสังขตะ เป็นต้น
     เล่ม ๔๕ ปัฏฐาน ภาค ๖ เป็นปัจจนียปัฏฐาน คืออธิบายความเป็นปัจจัยแก่กันแห่งธรรมทั้งหลายอย่างเล่มก่อนๆ นั่นเอง แต่อธิบายแง่ปฏิเสธ แยกเป็น ปัจจนียปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+ปฏิเสธ เช่นว่า ธรรมที่ไม่ใช่กุศล อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศลเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร อนุโลมปัจจนียปัฏฐาน คือ อนุโลม+ปฏิเสธ เช่นว่า อาศัยโลกิยธรรม ธรรมที่ไม่ใช่โลกุตตรธรรมเกิดขึ้นโดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร ปัจจนียานุโลมปัฏฐาน คือ ปฏิเสธ+อนุโลม เช่นว่า อาศัยธรรมที่ไม่ใช่กุศลธรรมที่เป็นอกุศล เกิดขึ้น โดยเหตุปัจจัย เป็นอย่างไร และในทั้ง ๓ แบบนี้ แต่ละแบบ จะอธิบายโดยใช้ธรรมในแม่บทชุด ๓ แล้วต่อด้วยชุด ๒ แล้วข้ามชุดระหว่างชุด ๒ กับชุด ๓  ชุด ๓ กับชุด ๒  ชุด ๓ กับชุด ๓ ชุด ๒ กับชุด ๒ จนครบทั้งหมดเหมือนกัน ดังนั้นแต่ละแบบจึงแยกซอยละเอียดออกไปเป็น ติก ทุก ทุกติก ติกทุก ติกติก ทุกทุก ตามลำดับ (เขียนให้เต็มเป็น ปัจจนียติกปัฏฐาน ปัจจนียทุกปัฏฐาน ปัจจนียทุกติกปัฏฐาน ฯลฯ ดังนี้
เรื่อยไป จนถึงท้ายสุดคือ ปัจจนียานุโลมทุกทุกปัฏฐาน)

คัมภีร์ปัฏฐานนี้ ท่านอธิบายค่อนข้างละเอียดเฉพาะเล่มต้นๆ เท่านั้นเล่มหลังๆ ท่านแสดงไว้แต่หัวข้อหรือแนวและทิ้งไว้ให้ผู้เข้าใจแนวนั้นแล้วเอาไปแจกแจงโดยพิสดารเอง โดยเฉพาะเล่มสุดท้ายคือภาค ๖ แสดงไว้ย่นย่อที่สุดแม้กระนั้นก็ยังเป็นหนังสือถึง ๖ เล่ม หรือ ๓,๓๒๐ หน้ากระดาษพิมพ์ ถ้าอธิบายโดยพิสดารทั้งหมดจะเป็นเล่มหนังสืออีกจำนวนมากมายหลายเท่าตัว ท่านจึงเรียกปัฏฐานอีกชื่อหนึ่งว่า "มหาปกรณ์" แปลว่า ตำราใหญ่ ใหญ่ทั้งโดยขนาดและโดยความสำคัญ

พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า พระไตรปิฎกมีเนื้อความทั้งหมด ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แบ่งเป็น พระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ พระสุตตันตปิฎก ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

ที่มา: www.84000.org
·   0

14 ก.ค. 2558

พระกริ่งไพรีพินาศ วัดบวรนิเวศวิหาร รุ่น 52 ปี สสช.

ในโอกาศครบรอบ 52 ปี วันคล้ายวันก่อตั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 จึงได้มีการจัดทำเหรียญที่ระลึกเพื่อเป็นอนุสรณ์วัตถุมงคลแก่สำนักงานสถิติแห่งชาติ และข้าราชการ บุคลากร อดีตข้าราชการ ประชาชน และผู้มีอุปการคุณแก่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้นำไปสักการบูชาเพื่อเป็นสิริมงคลสืบไป

วัตถุประสงค์ในการจัดสร้าง

  1. เพื่อเป็นอนุสรณ์วัตถุมงคลที่ระลึกในโอกาศครบรอบ 52 ปี วันคล้ายวันก่อตั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติ 23 พฤษภาคม 2558
  2. เพื่อให้ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราว ปัจจุบัน และอดีตข้าราชการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เครือข่ายความร่วมมือ และผู้มีอุปการคุณแก่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้นำไปสักการบูชาเพื่อเป็นสิริมงคลสืบไป
ประวัติพระไพรีพินาศ

พระไพรีพินาศ เป็นพระพุทธรูปศิลาขนาดย่อมมีขนาดหน้าพระเพลา 33 เซนติเมตร เป็นพระพุทธรูปแบบ
ธยานิพุทธเจ้าปางประทานพรสมัยศรีวิชัย แต่นักสังเกตบางคนสงสัยว่า “พระพุทธรูปสมัยศรีวิชัย มีเพียงเกตุมาลา เป็นจอมคล้ายสมัยทวารวดีเป็นพื้น” พระพุทธรูปองค์นี้มีผู้นำมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ราว พ.ศ. 2391 ได้ถวายพระนามว่า “พระไพรีพินาศ”

ในตำนานวัดมีกล่าวว่า “พระไพรีพินาศ” ใคร่ครวญตามพระนามน่าจะได้เชิญประดิษฐานไว้ในเก๋งน้อยที่สร้างใหม่ ณ ทักษิณชั้นบนแห่งพระเจดีย์ในครั้งนั้น เมื่อ พ.ศ. 2391 ที่เป็นการสิ้นเสี้ยนศัตรูครั้งแรก

พระไพรีพินาศในสาส์นสมเด็จ เล่ม 2 หน้า 85 – 90 -116 สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทูลสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า สมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ตั้งปัญหาถามกระหม่อมว่า พระไพรีพินาศนั้นเป็นพระอะไร มาแต่ไหน ทำไมจึงมาอยู่วัดบวรนิเวศ เหตุใดจึงชื่อพระไพรีพินาศ เกล้ากระหม่อมหงายท้องไม่สามารถตอบได้ อยากรู้เหมือนกัน เคยทูลถามฝ่าพระบาทก็ไม่ทรงทราบเหมือนกัน หันไปหันมาเห็นกรมหมื่นพงศาจึงลองเข้าจดทูลถามดู ตรัสบอกว่า ใครก็ทรงจำชื่อไม่ได้เสียแล้ว เป็นผู้นำมาถวายทูลกระหม่อมเมื่อครั้งยังทรงผนวชอยู่ เป็นเวลาติดต่อกับที่หม่อมไกรสรถูกสำเร็จโทษ จึงโปรดตั้งพระนามว่า “พระไพรีพินาศ”


การเลือกพระไพรีพินาศมาจัดทำเป็นเหรียญที่ระลึก
ขณะนี้สถานการณ์ด้านจัดเก็บข้อมูลมีความยากลำบาก เป็นอย่างยิ่ง เพราะความเจริญของเมือง ประชาชนต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการประกอบอาชีพอย่างเร่งด่วน การมีโลกส่วนตัวสูงทให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลด้วยความลำบาก และมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าเก็บข้อมูลในพื้นที่ เกิดความลังเล
และไม่มั่นใจในการให้ข้อมูล ขณะเดียวกันในด้านการบริหารจัดการระบบสถิติต้องสร้างความเข้าใจในการแบ่งปัน และร่วมใช้ข้อมูล และการมีส่วนในการบริหารจัดการข้อมูล อันเป็นการเริ่มต้น วิวัฒนาการใช้ข้อมูล ซึ่งต้องฟันฝ่าอุปสรรคอย่างมาก ดังนั้น หากทำเหรียญวัตถุมงคล ควรพิจารณาจากพระพุทธลักษณ์ปางต่าง ๆ 66 ปาง (แผนกโบราณคดี กรมศิลปากร) เมื่อพิจารณา 66 ปาง จากเว็บไซต์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และเห็นพ้องต้องกันว่า ควรพิจารณาปางที่ 48 ปางประทานพร
เป็นด้านหน้าของเหรียญ พระพุทธรูปนี้มี 2 แบบ คือ
     แบบที่หนึ่ง อยู่ในพระอิริยาบถนั่งสมาธิ และพระหัตถ์ซ้ายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาแบฝ่าพระหัตถ์ ยื่นออกไปวางที่พระชานุ
     แบบที่สอง อยู่ในพระอิริยาบถยืน ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นเสมอพระอุระ หงายฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างนอกบ้าง ยกขึ้นเสมอพระอังสะถือชายจีวรบ้าง พระหัตถ์ขวาห้อยหันฝ่าพระหัตถ์ออกไปข้างหน้า เป็นกิริยาประทาน

คณะทำงานพิจารณาแล้ว ขอนำพระพุทธรูปปางประทานพร ในพระอิริยาบถนั่งสมาธิเป็นด้านหน้าของเหรียญที่ระลึก ใช้ในความหมายของการให้พรและการอนุญาต ซึ่งอยู่ในความนิยมของการสร้าง

สืบเนื่องจากการจัดทำโครงการจัดทำเหรียญที่ระลึกนี้เพิ่งมีระยะเวลาห่างจากวันก่อตั้งเพียง 133 วัน เพื่อให้มีความเป็นไปได้ที่จะสัมฤทธิผล เห็นว่าพระไพรีพินาศแห่งวัดบวรฯ เป็นพระพุทธรูปปางประทานพร ซึ่งนิยมแบบที่มีแบบพิมพ์ และบล็อกสำเร็จรูปได้ จะเป็นการประหยัดเวลาดำเนินการได้มาก โดยรักษาพุทธลักษณะของพระไพรีพินาศรุ่นแรก ปี 2495 เป็นหลัก แล้วเพิ่มเติมคำว่า 52 ปี สสช. หรือ ครบรอบ 52 ปี สำนักงานสถิติแห่งชาติ

รูปแบบการจัดสร้างพระไพรีพินาศ
รูปแบบการสร้างพระกริ่งไพรีพินาศและเหรียญพระไพรีพินาศเป็นรูปแบบของวัดบวรนิเวศวิหาร ปี พ.ศ. 2495 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันก่อตั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงยึดรูปแบบเดิมในการจัดสร้างครั้งแรกมาเป็นต้นแบบในการจัดสร้างทั้งหมด

จากการเข้าเฝ้าเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต ผู้รักษาการแทนเจา้ อาวาสวดั บวรนิเวศวิหาร ให้เพิ่มการจัดสร้างพระไพรีพินาศเนื้อทองคำ ำ และลดจำนวนการจัดสร้างพระไพรีพินาศเนื้อทองทิพย์โดยได้รับอนุญาตผ่านความเห็นชอบจากเจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้จัดสร้างพระไพรีพินาศครั้งแรก ดังนี้

1. เนื้อทองคำ  จำนวน 251 องค์
     1.1 พระกริ่งไพรีพินาศ  ขนาด 3.3 ซม.   จำนวน 68 องค์
     1.2 เหรียญพระไพรีพินาศ  ขนาด 3.1 ซม.   จำนวน 78 องค์
     1.3 เหรียญพระไพรีพินาศ  ขนาด 1.8 ซม.   จำนวน 105 องค์
2. เนื้อทองทิพย์ จำนวน 10,156 องค์
     2.1 พระกริ่งไพรีพินาศ  ขนาด 3.3 ซม.   จำนวน 2,052 องค์
     2.2 เหรียญพระไพรีพินาศ  ขนาด 3.1 ซม.   จำนวน 4,052 องค์
     2.3 เหรียญพระไพรีพินาศ  ขนาด 1.8 ซม.   จำนวน 4,052 องค์

ทั้งนี้ สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ให้ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราว และผู้มีอุปการคุณแจ้งความประสงค์ในการร่วมสมทบทุนจัดสร้างวัตถุมงคลดังกล่าว โดยมีช่วงเวลารับแจ้งระหว่างวันที่ 23 มกราคม 2558 และปิดการรับแจ้ง วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 โดยผู้สมทบทุนจะได้รับวัตถุมงคลตามรายการที่แจ้งยอดแต่ละประเภทของวัตถุมงคล และคณะทำงานร่วมกับคุณพิศาล วณิชชัยอาภรณ์ ประธานบริษัท พี.เอส.โฟรตี้-นายน์ จำกัด ได้จัดทำโครงการมอบเหรียญที่ระลึกพระไพรีพินาศพร้อมจัดเลี้ยงอาหารกลางวันให้กับเด็กกำพร้าในสังกัดกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ

พิธีพุทธาภิเษก
พระกริ่งไพรีพินาศและเหรียญไพรีพินาศ ครบรอบ 52 ปี วันคล้ายวันก่อตั้งสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยพระเถระคณาจารย์ชื่อดังอธิษฐานจิต และพระสงฆ์ร่วมสวดพิธีพุทธาภิเษก ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2558
  1. พระเถระคณาจารย์ 6 รูป นั่งปรกอธิษฐานจิตเจริญบริกรรมภาวนา
  2. พระสวดมหานาค 4 รูป จากวัดบวรนิเวศวิหาร
  3. พระสวดพระพุทธมนต์ 10 รูป
  4. ประธานจุดเทียนชัย ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร
  5. ประธานดับเทียนชัย พระเทพสารเวที วัดบวรนิเวศหาร
  6. ประธานฝ่ายฆราวาส นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ
พระเถระคณาจารย์ที่นิมนต์นั่งปรกอธิษฐานจิตเจริญบริกรรมภาวนา
  • พระธรรมกวี วัดราชาธิวาส
  • พระเทพสารเวที วัดบวรนิเวศวิหาร
  • พระเทพปริยัติมงคล โอภาส โอภาโส เจ้าอาวาสวัดจองคำ จังหวัดลำปาง
  • ดร.พระครูไพศาลชัยกิจ (หลวงปู่ฤาษีตาไฟ) เจ้าอาวาสวัดเทพหิรัณย์ จังหวัดชัยนาท
  • พระครูวินัยธร สุริยันต์ โฆสปัญโญ เจ้าอาวาสวัดป่าวังน้ำเย็น จังหวัดมหาสารคาม
  • พระครูวินัยธร ชัยยะ โอภาโส เจ้าอาวาสวัดไร่บางตาวา จังหวัดปัตตานี



·   0

4 มี.ค. 2557

หลวงปู่บุญหนา ธัมมทินโน


“หลวงปู่บุญหนา ธมฺมทินโน” เป็นพระสายวิปัสสนากัมมัฏฐานที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยชื่อดังรูปหนึ่งแห่งเมืองสกลนคร ที่มีชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นอันมาก โดยเฉพาะความเป็นพระสงฆ์ที่มากด้วยเมตตาธรรม ท่านเป็นหลานแท้ๆ ของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร แห่งวัดป่าอุดมสมพร ต.พรรณา อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

เมื่ออายุ ๑๒ ปี ได้เข้าพิธีบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดแจ้ง บ้านหนองโดก ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่านเอง ได้ญัตติฝ่ายมหานิกาย

ท่านได้ปฏิบัติอุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์นานถึง ๑๒ ปี ตั้งแต่ครั้งสมัยเป็นสามเณร อาทิเช่น หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ซึ่งเป็นหลวงอาได้นำท่านมาอยู่ด้วย และโดยเฉพาะกับ “พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ” ศิษย์สายธรรม หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ในช่วงที่เป็นสามเณรอยู่กับพระอาจารย์อ่อน เคยไปกราบนมัสการหลวงปู่มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ต.นาใน อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร เป็นประจำ โดยมีพระอาจารย์อ่อนนำพาไป

สาเหตุที่ได้ปฏิบัติอุปัฏฐากรับใช้พระอาจารย์อ่อน ด้วยพระอาจารย์อ่อนเดินธุดงค์มาพำนักหาความสงบวิเวกอยู่ที่บริเวณป่าช้าบ้านหนองโดก (ปัจจุบันคือ วัดป่าโสตถิผล หรือวัดป่าบ้านหนองโดก) ตอนนั้น ได้บรรพชาเป็นสามเณร แต่เป็นฝ่ายมหานิกาย ได้ ๔ พรรษา พักอยู่วัดแจ้ง บ้านหนองโดก เป็นวัดบ้านของท่านเอง และไม่ไกลจากป่าช้าที่พระอาจารย์อ่อนไปพักอยู่นั้นมากนัก ประกอบด้วยตัวท่านเองมีความเลื่อมใสการปฏิบัติอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสให้ท่านสนใจไปฟังการอบรมภาวนาและอุปัฏฐากใกล้ชิดกับพระอาจารย์อ่อนตั้งแต่นั้น ภายหลังจึงได้เปลี่ยนเป็นสามเณรฝ่ายธรรมยุติกนิกาย และติดตามพระอาจารย์อ่อนเรื่อยมา

ท่านเล่าต่อไปว่า ตอนที่ไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่น ณ วัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ครั้งแรกไปกับพระอาจารย์อ่อน พร้อมกับสามเณรอีกรูปหนึ่ง (จำชื่อไม่ได้) และญาติโยม ๔-๕ คน ออกจากวัดป่าบ้านหนองโดกหลังฉันจังหันเสร็จประมาณ ๓ โมงเช้า โดยเดินมุ่งหน้าสู่เทือกเขาภูพานที่อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านหนองโดก ผ่านไปทางบ้านโคกกะโหล่งหรือบ้านคำแหวปัจจุบัน แล้วปีนเขาขึ้นสู่ถ้ำน้ำหยาด อันเป็นที่พักแห่งหนึ่งของคนเดิน

คณะของท่านก็เดินตามทางนั้นไปเรื่อยๆ ใช้เวลานานพอสมควร จึงไปถึงที่พักของคนเดินทางอีกแห่ง ตรงนั้นเป็นลำห้วยเล็กๆ อยู่ฟากเขาใกล้บ้านหนองผือ น้ำใสเย็นไหลตลอดแนว ชื่อว่าห้วยหมากกล้วย ถึงช่วงนี้พระอาจารย์อ่อนผู้เป็นหัวหน้า จึงพูดขึ้นอย่างเย็นๆ ว่า “เอาล่ะ ถึงที่นี่แล้ว ให้พักผ่อนเอาแฮงสาก่อน...”

และพระอาจารย์ก็รับผ้าอาบจากสามเณร เอามาพับครึ่งแล้วปูลงบนพลาญ (ลาน) หิน เสร็จแล้วท่านก็นั่งลงขัดสมาธิหลับตา ซึ่งเป็นการพักเหนื่อยตามวิธีของท่าน สำหรับสามเณรพร้อมญาติโยมที่ไปด้วยต่างแยกย้ายหาที่พักเหนื่อย โดยการหามุมสงบทำสมาธิของแต่ละคนไปตามอัธยาศัย จนตะวันบ่ายคล้อยอากาศเริ่มเย็นสบาย จึงพากันออกจากสมาธิแล้วเตรียมเดินทางต่อไป จนกระทั่งถึงวัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) เวลาประมาณบ่าย ๓ โมง พอเข้าไปภายในบริเวณวัด รู้สึกว่าภายในวัดร่มรื่นสงบเงียบ เหมือนกับไม่มีพระเณร แต่ลานวัดสะอาด เห็นแล้วพลอยทำให้จิตใจสงบเย็นไปด้วย ดูสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ภายในวัด จัดเก็บเป็นระเบียบเรียบร้อยดีมาก เดินไปอีกหน่อยหนึ่ง เห็นพระเณรกำลังทำกิจวัตรกวาดลานวัดด้วยไม้ตาด

ส่วนพระอาจารย์อ่อน พร้อมคณะ เข้าไปกราบนมัสการพระอาจารย์มั่นบนกุฏิ เสร็จแล้วก็กลับที่พัก ปัดกวาดลานวัด ตักน้ำใช้น้ำฉันจากบ่อน้ำ ซึ่งบ่อน้ำนั้นอยู่ท้ายวัด ตักขึ้นเทใส่ปี๊บ ใช้ผ้าขาวกรองที่ปากปี๊บ เมื่อเต็มแล้ว พระเณรผู้ที่จะหาม ๒ รูปใช้ไม้คานหามสอดที่ห่วงปี๊บ ถ้าต้องการหลายปี๊บก็สอดเรียงซ้อนกันมากน้อยตามกำลังสามารถ อย่างมากประมาณ ๔ ถึง ๖ ปี๊บ ในแต่ละเที่ยว เอาไปเทตามโอ่งที่ล้างบาตรที่ล้างเท้าหน้าศาลาหอฉัน และตามกุฏิพระเณร ห้องถาน (ห้องส้วม) จนกระทั่งเต็มหมดทุกที่

เสร็จจากนั้นก็เตรียมรอสรงน้ำพระอาจารย์มั่นบริเวณหน้ากุฏิท่าน ซึ่งมีพระเตรียมน้ำสรงไว้โดยใช้น้ำร้อนผสมพอให้อุ่นๆ เมื่อพระอาจารย์มั่นเข้ามานั่งบนตั่งแล้ว คราวนี้พระเณรทั้งหลายห้อมล้อม เพื่อเข้าไปถูหลังขัดไคลถวายอย่างเปี่ยมล้นด้วยศรัทธา ส่วน สามเณรบุญหนา (หลวงปู่บุญหนา ธมฺมทินโน) มีโอกาสเข้าไปร่วมสรงน้ำท่านพระอาจารย์มั่นในครั้งนี้ด้วย

เนื่องจากสามเณรบุญหนามีรูปร่างเล็ก พอได้แทรกเข้าไปกับพระ ซึ่งส่วนมากมีร่างกายใหญ่โตทั้งนั้น เช่น พระอาจารย์ทองคำ จารุวัณโณ, พระอาจารย์คำพอง ติสฺโส, พระอาจารย์อ่อนสา สุขกาโร, พระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน และอีกหลายๆ ท่าน

เมื่อพระอาจารย์มั่นเห็นท่านซึ่งเป็นสามเณรมาใหม่ พระอาจารย์มั่นจึงพูดสำเนียงอีสานขึ้นว่า “เณรมาแต่ไส...” เสียงท่านน่าฟังสดับจับใจมาก บ่งบอกถึงความเมตตา แต่สามเณรบุญหนาไม่ทันตอบ มีพระอาจารย์ทองคำตอบแทนว่า “เณรมากับครูบาอ่อน ข้าน้อย” จากนั้นท่านไม่ได้ว่าอะไรต่อไป จนเสร็จจากการสรงน้ำท่านในวันนั้น ซึ่งเหตุการณ์ในวันนั้นเป็นสิ่งที่ท่านประทับใจมาจวบจนกระทั่งทุกวันนี้

สำหรับที่เป็นคติธรรมตามที่ได้เข้าสัมผัสวัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ครั้งสมัยพระอาจารย์มั่นพำนักจำพรรษาอยู่ที่นั่น ได้สังเกตเห็นว่า แม้พระเณรจะมีเป็นจำนวนมาก การทำกิจวัตร เช่น ตักน้ำใช้ น้ำดื่ม กวาดลานวัด ขัดห้องน้ำห้องส้วม ตลอดทั้งล้างกระโถน กาน้ำ กรองน้ำใส่โอ่งไห และทำการงานอื่นๆ จะไม่ปรากฏเสียงพระเณรพูดคุยกันเลย ถึงจะพูดคุยกันก็เพียงกระซิบกระซาบ เห็นแต่อาการปากขมุบขมิบเท่านั้น คนอื่นไม่ได้ยินด้วย นี่เป็นคติธรรมอันหนึ่ง ให้มีสติระมัดระวังตัวไม่ประมาท

จึงเกิดอุบายธรรมขึ้นมาว่า เรื่องสติเป็นสิ่งสำคัญมาก สติระลึกรู้ในกาย สติระลึกรู้ในวาจาคำพูด สติระลึกรู้ในใจ เมื่อสติรูซักซ้อมอยู่ภายในกาย วาจา และใจแล้ว ทำ พูด คิด ถูกและผิด ก็ระลึกรู้อยู่ ปรับปรุงอยู่อย่างนี้เสมอ

พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ได้เล่าเรื่องของ ท่านพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล เทศน์แสดงธรรมสั้นๆ ว่า “กายสุจริตํ วจีสุจริตํ มโนสุจริตํ กายบริสุทธิ์ วาจาบริสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์ เอวัง...” แล้วท่านก็เดินลงจากธรรมาสน์ไป

หลังจากพักอยู่วัดป่าบ้านหนองผือได้ระยะหนึ่งแล้ว จึงได้ออกเดินธุดงค์ต่อไปกับพระอาจารย์อ่อน เพื่อหาความสงบวิเวกอยู่ใกล้ละแวกนั้น จนกระทั่งทราบข่าวว่าพระอาจารย์มั่นออกจากวัดป่าบ้านหนองผือ (วัดป่าภูริทัตตถิราวาส) แล้วไปพำนักอยู่ที่วัดป่ากลางโนนภู่ ต.ไร่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร สุดท้ายท่านได้มรณภาพลงที่วัดป่าสุทธาวาส ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

สามเณรบุญหนาได้ติดตามไปกับพระอาจารย์อ่อนโดยตลอด และไปพักอยู่ช่วยงานเตรียมเมรุชั่วคราว เพื่อถวายเพลิงศพพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าสุทธาวาส จนแล้วเสร็จเรียบร้อยหมดทุกอย่าง จึงออกเที่ยวเดินธุดงค์ต่อไป

นอกจากนี้แล้ว ท่านยังได้ปฏิบัติอุปัฏฐากรับใช้ครูบาอาจารย์อื่นๆ อีก อาทิเช่น พระอาจารย์ชอบ ฐานสโม พระอาจารย์ตื้อ อจลธมฺโม พระอาจารย์ลี ธัมมธโร พระอาจารย์แหวน สุจิณโณ พระอาจารย์สิม พุทธาจาโร และพระอาจารย์จาม มหาปุญโญ เป็นต้น

ต่อมา หลวงปู่บุญหนา ธมฺมทินโน ได้มาพำนักจำพรรษาอยู่ ณ วัดวัดป่าโสตถิผล บ้านหนองโดก ต.ช้างมิ่ง อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ตราบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน นับได้ว่าท่านเป็นพระอริยสงฆ์ที่ควรค่าแก่การกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจอีกรูปหนึ่งที่ยังเหลืออยู่
·   0

22 ธ.ค. 2556

หลวงปู่อุดม ญาณรโต วัดป่าสถิตย์ธรรมวนาราม อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ


ชาติภูมิ หลวงปู่อุดม ญาณรโต
หลวงปู่อุดม ญาณรโต ท่านเกิดในตระกูลชาวนา บิดาและมารดาท่านเป็นชาวนา ที่บ้านดงเฒ่าเก่า ต.นาแก อ.นาแก จ.นครพนม อยู่ในสกุล เชื้อขาวพิมพ์ รูปร่างสันทัด สีผิวดำแดง โดยมีโยมบิดาชื่อ นายแว่น เชื้อขาวพิมพ์ และมารดาชื่อนางบับ เชื้อขาวพิมพ์ และมีพี่น้องร่วมสายเลือดทั้งหมด 4 คน รวมหลวงปู่

ชีวิตในสมัยเด็ก ท่านก็เหมือนเด็กชาวนาทั่วไปบิดามารดาทำนา ท่านก็ไปช่วยทำนา ท่านชอบในเพศบรรพชิตมาก ท่านเห็นพระภิกษุสงฆ์เดินผ่านมาท่านเกิดความเลื่อมใสขึ้นมาเองตั้งแต่วัยเด็ก นี่ก็เนื่องมาจาก โยมบิดามารดาของท่านได้พาปฏิบัติศาสนกิจต่อพ่อแม่ครูอาจารย์ในพุทธศาสนา เช่น ครูบาอาจารย์ในสมัยท่านพระอาจารย์มั่น บิดามารดาท่านมักพาไปปฏิบัติศาสนกิจมาโดยตลอด เช่น หลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม วัดป่า สาลวัน หลวงปู่มหาปิ่น ซึ่งเป็นน้องชายของหลวงปู่สิงห์ เป็นต้น ท่านเล่าต่อว่าโยมบิดาท่านเคยได้บวชเณรอยู่ และสึกออกมามีครอบครัว ส่วนมารดาของท่านก็เข้าวัดทำบุญอยู่เป็นปกตินิสัย จึงทำให้ท่านมีความสนิทสนมและใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนามาโดยตลอดนั่นเอง

บรรพชา หลวงปู่อุดม ญาณรโต
เนื่อง จากในวัยเด็ก ท่านเห็นพระภิกษุสงฆ์แล้ว เกิดความปีติเลื่อมใสในสมณะสงฆ์ (มีความสุขเมื่อได้เห็นพระสงฆ์) ท่านคงมีความคิดที่อยากออกบวชอยู่ภายในใจมาโดยตลอด จากนั้นเมื่อท่านเริ่มโตเป็นหนุ่มท่านเคยได้อ่านหนังสือสวดมนต์และปฏิบัติ สมาธิภาวนา ของหลวงปู่สิงห์ ขัตยาคโม และพระอาจารย์มหาปิ่น ซึ่งทำให้ท่านจับจิตจับใจ มีจิตใจเข็มแข็งเด็ดเดี่ยว และมั่นใจในการที่จะได้บวชถือคลองเพศสมณะ ท่านได้ช่วยบิดามารดาทำนา หาปูหาปลาตามประสาชาวโลก ท่านเล่าว่าปูปลาสมัยก่อนหาง่ายมาก ตัวก็ใหญ่โตทั้งนั้น ท่านเคยดำน้ำเพื่อหาปลา น้ำลึกมากๆหลายเมตรอยู่ ทำให้ท่านเลือดไหลออกมาจากหู (หูหนวก) ท่านมีอาการหูหนวกอยู่แรมเดื่อนกว่าจะหายเหมือนเดิม ท่านบอกว่าชีวิตฆราวาสนั้นเป็นทุกข์ ต้องทำบาป สร้างกรรมเวรอยู่โดยตลอด จนในที่สุดเมื่อท่านมีอายุครบ ๒๓ ปี ท่านจึงได้ขอบิดามารดาของท่าน เข้าบรรพชาอุปสมบท ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่หลวงปู่มัน ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส มรณะภาพนั่นเอง โดยมีพระอุปัชฌาย์คือ พระครูอรุณสังฆกิจ (มหาเถื่อน อุชุกโร) วัดกุดเรือคำ ต.กุดเรือคำ อ. วานรนิวาส จ. สกลนคร และพระครูพิพิธธรรมสุนทร (พระคำฟอง เขมจาโร) วัดสำราญนิวาส อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และได้ฉายาทางภิกษุว่า ญาณรโต (ซึ่งแปลว่าผู้ทรงไว้ซึ้งญาณ) และในปีนั้นนั่นเอง ท่านได้เดินทางไปร่วมพิธีเผาศพหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร พร้อมทั้งพระอุปัชฌาย์ และพระกรรมวาจาจารย์ของท่านทั้งสองด้วย ท่านบอกว่างานศพหลวงปู่มั่นใหญ่โตมาก มีพระกรรมฐานมากมายเต็มไปหมด โดยสมัยก่อนวัดป่าสุทธาวาสยังคงมีสภาพเป็นป่าดงพงไพรอยู่ มีต้นไม้ใหญ่มากมายไม่เหมือนสมัยปัจจุบันที่เต็มไปด้วยหมู่บ้านเต็มไปหมด

พรรษาที่1-2 (พ.ศ.2492-2493)
ท่านอยู่กับพระอุปัชฌาย์ ที่วัดกุดเรือคำ ต.กุดเรือคำ อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร
พรรษาที่3-5(พ.ศ.2494-2497)
ท่านเดินธุดงค์ไปในที่ต่างๆและกลับมา อยู่ที่วัดภูข้าวหลวง อ.สหัสขัน จ.กาฬสินธุ์
พรรษา ที่7-15(พ.ศ.2498-2506)
วัดบ้านนาโสก อ.นาแก ต.บ้านแก้ง จ.นครพนม ซึ่งเป็นบ้านญาติของท่านและเป็นบ้านเกิดของท่านเองต่อจากนั้นท่านได้ไปพัก อาศัยอยู่กับหลวงปู่ลี ฐิตธัมโม ตอนนั้นหลวงปู่ลี ท่านอยู่วัดศรีชมพู ต.โคกสี
อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
พรรษาที่ 20 (พ.ศ.2507-2515)
ท่านธุดงค์ไปอยู่ทางภาคเหนือบ้าง เช่น สุโขทัย แพร่ น่าน ลำปาง อุตรดิตถ์ พิจิตร เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ เลื่อยมา โดยท่านได้ไปพบกับ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง หลวงปูตื้อ อจลธัมโม วัดป่าอาจารย์ตื้อ จ.เชียงใหม่ หลวงปู่สิม พุทธาจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่ หลวงปู่แว่น ธนปาโล วัดถ้ำพระสบาย จ.ลำปาง หลวงปู่หลวง กตปุญโญ วัดคีรีสุบรรพต ต.พระบาท จ.ลำปาง โดย
ช่วงระยะเวลาที่ธุดงค์ในแถบภาคเหนือ ตั้งแต่จังหวัดเพชรบูรณ์นั้น ท่านมีสหธรรมมิกที่ร่วมเดินทางไป
ด้วยกัน คือ หลวงพ่อไพบูลย์ สุมังคโล วัดอนาลโย จ.พะเยา และหลังจากที่ท่านไปธุดงค์ที่เชียงใหม่
กลับมาท่านจึงได้มาอยู่ที่วัดป่า สถิตย์ธรรมวนาราม ต.ศรีชมภู อ.พรเจริญ จ.หนองคาย จนกาลสมัย
ปัจจุบันนี้ (นี้เป็นเพียงประวัติย่อ ๆ เท่านั้น)

ครูบาอาจารย์ที่หลวง ปู่ได้ไปพำนักอาศัย และฟังธรรม
ครูบาอาจารย์เท่าที่หลวงปู่จำได้และเล่าให้ฟังมานั้น ในอดีตที่ผ่านมาแล้วทั้งหลาย ในบางคราวท่านก็ลืมไปบ้าง ซึ่งอาจจะไม่ละเอียดมากนัก เท่าที่ท่านพอจะจำได้นั้น มี ดังนี้
1. หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่
2. หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม วัดป่าอาจารตื้อ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่
3. หลวงปู่สิม พุทธาจาโร สำนักสงฆ์ถ้ำผาปล่อง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
4. หลวง ปู่แว่น ธนปาโล วัดถ้ำพระสบาย จ.เชียงใหม่
5. หลวงปู่สาม อกิญจโน วัดป่าไตรวิเวก สุรินทร์
5. หลวงปู่ลี ฐิตธัมโม วัดเหวลึก ต.โคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร
6. เจ้า คุณแดง วัดป่าประชานิยม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
7. หลวงปู่เอี่ยม วัดภูข้าวหลวง อ.สหัสขัน จ.กาฬสินธุ์

การเดินธุดงค์ หลวงปู่อุดม ญาณรโต
ท่านเล่าว่าตั้งแต่โยมบิดาของท่านเสีย ชีวิตด้วยโรคชรา ตอนอายุ ได้ 73 ปี ก่อนท่านออกเดินธุดงค์ และมารดาท่านก็เสียชีวิตด้วยโรคชราเช่นกัน เมื่อตอนอายุได้ 79 ปี หลังจากที่ท่านธุดงค์กลับมาจากจ.เชียงใหม่ ท่านเล่าว่าตอนที่ท่านได้ไปพำนักอยู่ เพื่อฟังธรรมกับหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ที่วัดดอยแม่ปั๋งนั้น ท่านเกิดความประทับใจมาก ท่านเล่าว่าหลวงปู่แหวนท่านเทศแบบง่ายๆ สั้นๆ แต่มีคุณภาพมากๆ คำพูดของท่านลึกซึ้งกว้างขวางมากนัก น่าเลื่อมใสมากๆ ซึ่งในเวลานั้นหลวงปู่ลี วัดเหวลึก ท่านก็ได้ไปร่วมฟังธรรมกับหลวงปู่แหวน กับท่านด้วย ท่านอยู่ฟังธรรมกัน ประมาณ๒-๓ คืน
จากนั้นท่านได้เดินทางไปจังหวัดลำปาง และเพชรบูรณ์ โดยเดินเท้าไป บางทีฆราวาสเห็นก็อาสาพาไปส่งเป็นบ้าง ท่านใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 เดือนเศษ โดยท่านเดินทางผ่านจังหวัด สุโขทัย แพร่ น่าน ลำปาง อุตรดิถต์ พิจิตร และเพชรบูรณ์ และใช้เวลาเดินทางจากเพชรบูรณ์ไปเชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทางประมาณอีก 2 เดือน ท่านเล่าว่าตอนเดินทางผ่าน จ.สุโขทัย ได้พบฆราวาสที่กินเจ มักใส่ขนมปัง และน้ำตาลอ้อย โดยบางครั้งเขาจะนำขนมกับข้าวสุกใส่ให้เต็มบาตรเลย ไม่มีกับข้าวคาวเลย ท่านฉันทีแรกๆก็อร่อยดี แต่หลายวันเข้ามันชักไม่อร่อย โดยในตอนนั้นท่านได้เดินเท้าธุดงค์ร่วมกับพระอาจารย์ไพบูรณ์ สุมังคโล วัดอนาลโย จ.พะเยา ซึ่งท่านทั้งสอง สนิทสนมมักคุ้นกันอยู่

การปฏิบัติธรรม หลวงปู่อุดม ญาณรโต
โดยปกติหลวงปู่อุดมท่านชอบเดินจงกรม และนั่งสมาธิภาวนาเพื่อปฏิบัติทางจิตของท่านอยู่โดยตลอด ท่านบอกว่าถ้าวันไหนไม่ได้เดินจงกรมแล้วหล่ะก็ เดือดร้อนไม่ได้เลยนะ จิตจะเศร้าหมองทันที สมัยที่ท่านอยู่ที่เชียงใหม่ ท่านปฏิบัติธรรมอยู่นั้น จิตของท่านเกิดความสว่าง มีความสุขมาก จิตตกถึงฐานของจิต เข้าสู่พื้นเดิม ท่านเปรียบเหมือนการสักผ้า ถ้าผ้ามันลาย พื้นเดิมของจิตมันก็ลาย ถ้าผ้ามันดำ จิตพื้นเดิมมันก็ดำ (สำนวนของหลวงปู่อุดม) ท่านบอกว่ามันถึงฐานของมัน มีความสุขมากไม่มีอะไรจะมีความสุขเท่า มันมีความปีติอิ่มอกอิ่มใจมาก ท่านจึงเอาตรงนี้มาเป็นอารมณ์ และค้นหาเข้าไปในจิตต่อจนถึงที่สุดของใจ ท่านเล่าว่ามันมีปัญญามากมายหลายอย่างเกิดขึ้นมา ท่านบอกว่าท่านอดนอน อดอาหารเพื่อทำความเพียรภาวนา อยู่ 5 วัน 5 คืน ท่านบอกว่า อดนอนนี่ทุกข์ยิ่งกว่าอดอาหารอีก แต่เพราะว่ามีปีติอยู่ ท่านจึงสามารถทำได้ ภายหลังจาก 5 วันผ่านไป จิตของท่าน ก็เบาสบายได้กำลังใจ และกำลังกายยังแข็งแรงดีอยู่ เวลาธรรมเกิดขึ้นมา 100% ท่านนั่งสมาธิไปได้จนถึงแจ้งเลย(เช้าเลย) การปฏิบัติของท่านในเวลา 6 โมงเย็น จนถึง 5 ทุ่ม ท่านมักจะเดินจงกรม และในเวลา 5 ทุ่มขึ้นไป ท่านจะนั่งสมาธิภาวนาไปเรื่อยจนบางทีถึงสว่างก็มี ในคราวที่ใจของท่านรวมลงจนถึงสภาวะเดิมของจิต ท่านเล่าว่ามีความสุขมากๆ ธรรมะของพระพุทธเจ้าที่เกิดขึ้นนั้น เหมือนกับอยู่ตรงหน้า สามารถยื่นมือแทบจะจับได้ต่อหน้านี้เลยทีเดียว จิตมันไม่ท้อไม่ถอย กระจ่างหมดทุกอย่าง มันหาใจ แก้ใจตัวเองได้หมดทุกอย่าง ในเวลาฟังธรรมพ่อแม่ครูบาอาจารย์ เพียงนิดหน๋อยเท่านั้นจิตท่านก็สว่างโพรงเลย ท่านบอกว่าจิตท่านเห็นธรรมที่วัดป่าอาจารย์ตื้อ จ.เชียงใหม่ ซึ่งขณะนั้นท่านพำนักอาศัยอยู่กับ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโมนั่นเอง ท่านยังเล่าต่ออีกว่า หลวงปู่ตื้อนั้น ท่านจะเป็นพระที่เทศตรงไปตรงมามาก จนในบางครั้งดูแล้วอาจจะไม่ไพเราะ แต่ท่านก็บอกว่า ผู้มีปัญญาก็ต้องเลือกฟังให้ถูกกับจิตของตนเอง อันไหนดีก็นำมาปฏิบัติให้ถูกกับจิตของตน ในยามที่ท่านเข้าไปนวดแขน นวดขาให้กับหลวงปู่ตื้อนั้น หลวงปู่ตื้อท่านจะเทศให้หลวงปู่อุดมฟัง หลวงปู่อุดมท่านเล่าว่าจับจิตจับใจมาก เลยทีเดียว ทำให้เกิดความเลื่อมใสในองค์ของหลวงปู่ตื้อมากมายยิ่งขึ้นเลยทีเดียว องค์หลวงปู่ตื้อนั้น ท่านขุดดิน ฟันต้นไม้ ต้นกล้วยได้ ซึ่งจริงๆแล้ว สำหรับพระต้องปรับเป็นอาบัติ ส่วนองค์หลวงปู่ตื้อนั้นท่านคงอยู่เหนือสมมุติไปแล้ว เพราะในคราหนึ่งหลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง ท่านห้ามหลวงปู่ตื้อไม่ให้ทำเช่นนี้ แต่หลวงปู่ตื้อกลับหันมากล่าวกับหลวงปู่แหวนว่า ไม่ต้องมาสอนหรอกน่า เราพ้นแล้ว(จิตท่านหลุดพ้นไปแล้วนั่นเอง)
·   0

21 ส.ค. 2556

เหรียญหลวงพ่อพระใหญ่ รุ่นแรก วัดโพธาราม ท่าไคร้ จังหวัดบึงกาฬ


ตามตำนานและคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่หลายรุ่น ... มีผู้ถือเหรียญหลวงพ่อพระใหญ่จำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบอุบัติเหตุ แต่ก็ปลอดภัยทุกคน
·   2