11 ก.ย. 2555

ประวัติหลวงพ่อพระชีว์

·   0

หลวงพ่อพระชีว์ วัดบุรพาราม จ.สุรินทร์

หลวงพ่อพระชีว์  ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุข วัดบูรพาราม หน้าตักกว้าง  2 เมตร 9 เซนติเมตร โดยประมาณ  เป็นพระพุทธรูปสมัยโบราณ  ที่ไม่มีท่านผู้ใดสืบประวัติให้เป็นที่แน่ชัดได้ว่า  สร้างเมื่อปี พ.ศ. ใดแน่นอน  ทั้งนี้เพราะไม่มีการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร  ให้ปรากฏไว้ในที่ใดเลย   เป็นพระปางสดุ้งมาร  เนื้อดินเผาอัดแน่น  โดยไม่อาจทราบว่าด้านในนั้นเป็นอะไรบ้าง  และมีพุทธลักษณะละม้ายไปทางศิลปะแบบขอมในยุคขอมเรืองอำนาจ

โดยเหตุที่ไม่มีใครทราบประวัติความเป็นมาที่แน่นอนดังกล่าวนั่นเอง จึงมีการสืบสานเล่าต่อกันมา ที่ไม่ค่อยจะตรงกันมากนัก ทั้งนี้ก็แล้วแต่ท่านผู้ใดจะสืบทราบกันมาอย่างไร  แต่พอสันนิษฐานได้จากการบอกเล่าที่ไม่ค่อยตรงกันเท่าใดนัก

อนึ่งในสมัยนั้นตามโบสถ์วัดต่าง ๆ ที่จะมีพระพุทธรูป หรือพระประธาน ที่หล่อด้วยโลหะ
มีพุทธลักษณะถูกต้องและสวยงามเหมือนทุกวันนี้ หาได้ยากยิ่งนัก  กล่าวได้ว่ายังไม่มีเลยนั่นเอง  มีเพียงช่างตามหมู่บ้านที่พอจะแกสลักไม้ หรือปั้นด้วยดิน ทำเป็นรูปพระ  พอเป็นที่กราบไหว้บูชาในที่นั้นเท่านั้นเอง

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ วิหารหลวงพ่อพระชีว์ที่สร้างในยุคนั้น ทำไมจึงยกพื้นสูงมาก คือ พูนดินเป็นพื้นสูงกว่าทุกแห่งที่เห็นในปัจจุบัน  นับจากพื้นราบขึ้นไป  เป็นขั้นบันไดถึง  13 ขั้น  คงมีความหมายแสดงความนับถืออย่างสูงสุดนั่นเอง  กาลต่อมาท่านเจ้าเมืองพิจารณาเห็นว่า  พระประธานยังมีขนาดเล็กอยู่  ไม่เหมาะสมกับวิหาร  ซึ่งมีขนาดสูงใหญ่  จึงระดมหาช่างผู้ชำนาญมาขยายให้ใหญ่ขึ้น  ด้วยวิธีนำเอาดินเหนียวจากแม่น้ำลำชีมาผสมกับมูลเถ้า ซึ่งเผาจากต้นไม้ชนิดหนึ่ง  ชาวพื้นเมืองเรียกว่า “ต้นจลีก”  แล้วใช้น้ำมันจากต้นยางบดผสมกันอย่างละเอียดอ่อน ปั้นอัดเป็นองค์ขนาดใหญ่ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน  เป็นอันว่าหลวงพ่อพระชีว์ เป็นพระพุทธรูปเนื้อดินปั้น อัดแน่นอย่างดี  มีนามว่า “หลวงพ่อพระชีว์” (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “หลวงตาประจี”) ทั้งนี้เพราะมีสิ่งที่เกี่ยวเนื่องมาจากแม่น้ำลำชีนั่นเอง ถือว่าเป็นพระคู่บ้าน คู่เมือง หรือพระประธานเมืองคู่กับหลักเมือง

ข้อสังเกตและความจริงประวัติศาสตร์ของการสร้างเมืองแต่ละเมืองนั้น คือชัยภูมิสำหรับ
ตั้งเมือง   เพราะหลักของเมืองนั้นคือ องค์ประธานที่เป็นหลัก  ซึ่งจะต้องนำสิ่งที่เป็นวัตถุให้มองเห็นรูปธรรม  ด้วยความหมายที่เป็นมงคล  ซึ่งอาจจะสร้างด้วยศิลา  หรือไม้ที่เป็นมงคล  เช่น ไม้ชัยพฤกษ์  หรือไม้คูณ  ไม้สัก ก็แท้แต่เลือก  หลักเมืองกรุงรัตนโกสินทร์ ครั้งรัชกาลที่ 1 นั้น  ตามเอกสารโบราณกล่าวว่าเป็นเสาไม้ชัยพฤกษ์  มีไม้แก่นจันทร์ประกบนอก  สูง  187 นิ้ว ลงรักปิดทอง  ยอดเสารูปบัวตูม

เท่าที่ยกตัวอย่างมาเพียงเท่านี้ ก็เป็นการยืนยันได้แล้วว่า  ในการสร้างเมืองทุกเมือง  จะต้องการตั้งหลักเมืองเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็น  เพราะเป็นที่รวมของศิริมงคล และมิ่งขวัญของเมืองเป็นที่เคารพบูชา ของชาวเมืองนั้น ๆ  ในขณะเดียวกันก็จะต้องมีสิ่งที่เคารพบูชาสูงสุดควบคู่กันไปด้วย  สิ่งนั้นคือ พระพุทธรูป หรือพระประธาน ที่สำคัญ และมีความหมายสำหรับชาวเมืองนั้น ๆ  ที่เขาเหล่านั้น  ถวายความยกย่องว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของเขา  ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทุกเมือง  ดังนั้นในยุคของการสร้างเมืองสุรินทร์  หลวงพ่อพระชีว์ ซึ่งพระพุทธรูปองค์ใหญ่  มีพุทธลักษณะแบบภูมิฐาน ที่ทั้งให้เกิดความเคารพและความยำเกรง ด้วยความนับถือในความศักดิ์สิทธิ์ ชาวเมืองแต่โบราณ ถึงปัจจุบัน  จึงถวายความเคารพนับถือว่า  เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของเขาได้อย่างสนิทใจ

ความเชื่อถือ และยอมรับในความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระชีว์


ความจริง และความเป็นไปได้ มีอยู่ในโลกนี้อย่างสมบูรณ์ แล้วว่า ไม่ว่าสิ่งใด หรือวัตถุใด  และบุคคลใด  จะเป็นพระพุทธรูป หรือพระประธาน ศาลเจ้าหลักเมือง หรือศาลเทวรูปบูชาใดก็ตาม  เมื่อสิ่งเหล่านั้น เป็นที่ยอมรับนับถือ เป็นแดนแห่งความเคารพนับถือ ยำเกรง  ทำให้เกิดศรัทธาปสาธะ ของชนหมู่มากในถิ่นนั้น ๆ ได้แล้ว  วัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งมงคลเหล่านั้น ย่อมเกิดความศักดิ์สิทธิ์ และฤทธานุภาพได้อย่างน่ามหัศจรรย์  พร้อมทั้งเป็นเหตุอำนวยประโยชน์สุข  ให้เกิดพลังใจ สุขใจ และ
ปลื้มใจ แก่ผู้ที่เข้าไปกราบไหว้บูชา  ให้ดำรงตนอยู่ได้ด้วยความหวัง  และมีที่พึ่งทางใจ  มีพลานุภาพ
ให้เกิดความอบอุ่นทางใจอย่างมั่นคง

หลวงพ่อพระชีว์ ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุ ตั้งแต่ยุคโบราณกาล ที่ชาวเมืองทั้งหลาย  ได้มอบพลังจิตรามไว้ด้วยความนับถือสักการะบูชา ตลอดมา ความศักดิ์สิทธ์ ฤทธานุภาพ ย่อมตั้งอยู่ที่องค์ท่าน  ทุกอย่าง  แล้วสิ่งนั้นแหละ  ที่รวมเป็นพลังพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ อำนวยประโยชน์สุขให้ตลอดกาล  เมื่อความเจริญมีอยู่ไม่ว่าในยุคนั้น ชาวเมืองทั้งหลาย ยังขาดการศึกษา ขาดที่พึ่งอย่างหลากหลายเช่นปัจจุบัน  เขาเหล่านั้นในขณะนั้นมองเห็นเพียงองค์หลวงพ่อพระชีว์เท่านั้นเป็นเครื่อง
ยึดเหนี่ยวทางใจ  เช่น  เมื่อมีภัยพิบัติเกิดขึ้นในยุคก่อน ๆ มีอหิวาตกโรค หรือโรคฝีดาษระบาด  ตลอดถึงข่าวลือว่าภูตผีปีศาจ จะมาเบียดเบียนให้ได้รับความพินาศ ให้ได้รับอันตรายต่าง  ๆ   ก็เป็นเหตุให้ชาวเมืองขวัญเสีย เขาเหล่านั้นก็จะมีจุดรวมใจอยู่ที่หลวงพ่อพระชีว์  พากันมากราบกรานบนบานศาลกล่าว  ขอพึ่งพระบารมีให้เหตุการณ์เหล่านั้นผ่านพ้นไปด้วยความสวัสดี

สิ่งที่ชาวเมืองทรงจำอยู่ และอัศจรรย์อย่างยิ่งคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคใกล้ปัจจุบันนี่เอง  ระหว่าง พ.ศ. 2484-2488  สงครามโลกครั้งที่ 2 กำลังเกิดขึ้น  โดยที่จังหวัดสุรินทร์  ก็ตั้งอยู่ติดกับประเทศเขมร  เมืองสุรินทร์จึงเป็นเป้าหมายในการโจมตีทิ้งระเบิด  เครื่องบินในยุคนั้น  ยังใช้วิธีลอบโจมตีทิ้งระเบิดเวลากลางคืน  ทางการได้ออกคำสั่งห้ามชาวเมืองไม่ให้จุดไฟเวลากลางคืน  วัดวาหรือบ้านที่มุงสังกะสีสีขาว สั่งให้เอาหญ้าคา หรือทางมะพร้าวปิดหลังคาไว้ให้มิดชิด  ไม่ให้เครื่องบินมองเห็นเป็นบ้านเมือง  ทุกหมู่บ้านมีการขุดหลุมหลบภัยไว้พร้อม  เมื่อได้ยินเสียงไซเรน หรือเสียงกลองสัญญาณหลบภัย   พร้อมทั้งได้ยินเสียงเครื่องบิน บินมาทีไร  ชาวเมืองก็ตกใจหวาดกลัวขวัญหนีดีฝ่อกันทั่วหน้าไปหมด ชีวิตทุกชีวิต  ดวงจิตทุกดวง จึงไปรวมอยู่ที่หลวงพ่อพระชีว์  ตั้งจิตอธิษฐาน บนบานศาลกล่าวให้หลวงพ่อช่วยปกปิดบ้านเมือง อย่าให้ศัตรูมองเห็นเป็นบ้านเป็นเมืองเลยลูกหลานจะได้ปลอดภัยทุกครั้ง

ด้วยเดชแห่งบุญ และพุทธานุภาพ  อันเกิดแต่พลังดวงจิตของชาวเมือง  ที่อธิษฐานขอบารมีหลวงพ่อพระชีว์ให้คุ้มครอง   ศัตรูเหล่านั้นถึงเมืองสุรินทร์ เห็นเป็นทะเลสาป ทะเลทราย และเห็นเป็นป่าดงเสียหมด  จึงหย่อนลูกระเบิดไม่เคยตรงเป้าหมายเลย  ชาวเมืองจึงพ้นจากภัยพิบัติตลอดมาอย่างน่าอัศจรรย์

กาลต่อมาอีก  เมื่อ พ.ศ. 2516  เกิดไฟไหม้จังหวัดสุรินทร์ครั้งใหญ่ที่สุด คือ เริ่มไหม้ตั้งแต่เวลาตี 4 รุ่งเช้าอีกเกือบตลอดทั้งวัน เหตุการณ์ครั้งนั้นรายแรงมาก เพราะเกิดไหม้ตรงจุดกลางเมืองที่มีหมู่บ้านร้านค้าแออัดที่สุด  แล้วไฟก็ลามไปเป็นวงกลม 10 ทิศ  จึงเหลือกำลังของรถดับเพลิง  เท่ากับปล่อยให้ไหม้ไปตามธรรมชาติเลยทีเดียว  ความโกลาหล อลหม่านวุ่นวายของชาวบ้าน ร้านตลาด  ที่ต่างคนก็ขนย้ายข้าวของหลบหนีไปวางไว้เต็มลานวัดไปหมด  ไฟเจ้าพยาบาทก็ไม่ยอมหยุดยั้ง  ลามปามจะถึงวัดอยู่แล้วพระเณรตกใจหนัก  วิ่งขึ้นกุฏิหลวงปู่ฯ  ขออนุญาตขนของหนีไฟ  เห็นหลวงปู่นั่งเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น  พร้อมทั้งบอกพระเณรว่าไม่จำเป็น  เมื่อพระเณรลงมาแล้วยิ่งตกใจใหญ่เพราะไฟใกล้เข้ามา และไหม้วัดใกล้เคียงคนละข้างรั้วเกือบหมดแล้ว  จึงพากันรีบวิ่งขึ้นกุฏิหลวงปู่อีก  ท่านก็พูดเหมือนเดิมว่าไม่จำเป็น  คำว่าไม่จำเป็นของท่าน คือไม่จำเป็นต้องขนของหนีไปไหน

สักครู่หนึ่งเห็นหลวงปู่ลงมาจากกุฏิ  เดินตามธรรมดา มองดูเปลวไฟแวบเดียว  แล้วเห็นท่านเดินอ้อมวิหารหลวงพ่อพระชีว์ แบบเดินจงกรมสองสามรอบ  ก็กลับขึ้นกุฏิไปตามเดิม

เดชะบุญที่สักครู่หนึ่งลมก็เปลี่ยนทิศ  กลับกระพือพัดไปทางทิศที่ไหม้หมดแล้ว  จึงเป็นเหตุให้ไฟสงบหยุดอยู่เพียงแค่นั้น  บ้านข้างเคียงและวัดบูรพารามจึงปลอดภัยในกาลครั้งนั้นไปได้อย่างน่าอัศจรรย์  เสียงโจษขานของชาวบ้านชาวเมืองทั้งหลายว่า คงเป็นบารมีของหลวงปู่ และอานุภาพแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อพระชีว์นั่นเอง

หลวงพ่อพระชีว์มีส่วนช่วยทางราชการศาล


เนื่องจากชาวบ้านได้ถวายความเคารพนับถือยำเกรงดังกล่าว  หลวงพ่อพระชีว์จึงเป็นเหมือนหนึ่งผู้พิพากษา ในเรื่องคดีแพ่ง ช่วยราชการศาลได้อย่างมากตลอดมา  กล่าวคือ  กรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กล่าวว่า ถ้าท่านกล้าสาบานหรือกล้าดื่มน้ำสาบานต่อหน้าหลวงพ่อพระชีว์  ข้าพเจ้าจะยกโทษให้ หรือเลิกดำเนินคดีกับท่าน  แล้วปรากฏว่ามีทนายโจทก์ หรือจำเลยพาลูกความ มาดื่นน้ำสาบานเป็นประจำ แล้วก็เลิก หรือจบคดีความกันที่โบสถ์หลวงพ่อพระชีว์   นอกจากนี้ บางเรื่องบางคู่กรณี ก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นโรงขึ้นศาล ตกลงพากันมาดื่มน้ำสาบานกันเอง ก็จบลงแค่นั้นเลิกกินแหนงแคลงใจกันแต่โดยดี

บางครั้งมีท่านหัวหน้าศาล มาสนทนาธรรมกับหลวงปู่  แล้วกลาวปรารภถึงหลวงพ่อพระชีว์ว่า เท่ากับได้ช่วยเหลือศาลได้มากเหลือเกิน  คดีความแพ่งบางอย่างก็มาจบที่หลวงพ่อพระชีว์นี่เอง  เนื่องจากชาวบ้านยังถวายความเคารพนับถืออยู่มาก  ยิ่งกว่านั้น ได้ฟังมาว่า  ในอดีตเคยเป็นสถานที่ดื่มน้ำสัตยาบัน  เพื่อปฏิญาณตนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ของส่วนราชการ  ยิ่งกว่านั้นแม้บุคคลทั่วไปก็นิยมมาปฏิญาณตนเองเพื่อละเลิกอบายมุข  มีเลิกเหล้า เลิกยาเสพติด เลิกการพนัน  และบางคู่ก็มาสัญญาต่อความรัก  เพื่อซื่อสัตย์ซึ่งกันและกัน  บางคู่ก็แต่งงานกันมาเป็นเวลานานแล้ว  ไม่มีบุตรด้วยกันก็มาอธิษฐานขอบุตร ได้รับคามสำเร็จก็มีอยู่ทั่วไป  ตลอดถึงนักธุรกิจน้อยใหญ่ แม้นักการเมือง ก็นิยมมาอธิษฐานใจขอพลังแห่งความสำเร็จก็มีอยู่เป็นประจำตลอดมา

รวมแล้วคือ หลวงพ่อพระชีว์ ยิ่งแต่จะคงเป็นที่พึ่งทางใจให้แก่ประชาชนชาวเมืองได้ตลอดไป  อนึ่งบางท่านอาจจะเคยนึกสงสัยว่า พระชีว์  ซึ่งเกี่ยวกับลำน้ำชีดังกล่าวแล้วนั้น  ทำไมจึงมีตัว “ว  การันต์” อยู่ด้วยเรื่องนี้เคยได้ฟังท่านเจ้าคุณธรรรมฐิติญาณ (หลวงปู่โชติ)ท่านสันนิษฐานให้ฟังว่า  ด้วยความเคารพนับถืออย่างสูงสุดของชาวเมือง จึงถวายชื่อว่า “หลวงพ่อชีวิต”  หมายถึง ยามมีภัยพิบัติ ไม่ว่าสงคราม หรือภัยโรคระบาด ชีวิตเราพ้นภัยมาได้ทุกครั้ง  ซึ่งเท่ากับว่าท่านประทานชีวิตให้แก่เรา จึงได้นามว่าหลวงพ่อชีวิต หรือชีวะ เหลือไว้แค่  ว การันต์ ตัวท้ายไว้ก็มีความหมายถึงชีวิตได้เหมือนกัน

ด้วยเหตุองค์ท่านเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง หรือเป็นพระประธานของบ้านเมืองนั่นเอง  ทางบ้านเมืองรวมกับทางวัด จึงได้จัดให้มีงานประจำปี เรียกว่า  งานเทศกาลประจำปี
ปิดทองหลวงพ่อพระชีว์ ทุกปีตลอดมาเป็นประเพณีมานานแล้วตรงกับงานวันมาฆะบูชา เพ็ญเดือน 3 ของทุกปี


ประวัติการสร้างพระวิหารหลวงพ่อพระชีว์


เมื่อหลวงปู่ดูลย์  มาปกครอง และเริ่มพัฒนาวัดบูรพาราม ตั้งแต่ พ.ศ. 2477 นั้น โบสถ์หลวงพ่อประชีว์ ซึ่งเป็นไม้ชำรุดทรุดโทรมมาก  หลวงปู่ดูลย์ ร่วมกับตระกูล ศรีสุรินทร์ ได้สร้างขึ้นใหม่  แต่ก็ยังเป็นไม้เหมือนเดิม  ต่อมา พ.ศ. 2508  หลวงปู่ดูลย์ ได้ให้รื้อแบบไม้ออก แล้วสร้างขึ้นด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก  ทรงแบบจตุรมุขอย่างถาวร  เจ้าอาวาสต่อมา คือ พระรัตนากรวิสุทธิ์ ได้สร้างเพิ่มเติมให้ยอดตรงกลางสูงแบบทรงเจดีย์ มีช่อฟ้า ใบระกา ประดับด้วยกระจก และลวดลายทาด้วยทอง แต่ท่านได้มรณะภาพก่อนที่การบูรณะจะแล้วเสร็จ ต่อมาพระโพธินันทมุนีเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน ได้ดำเนินการบูรณะปฏิสังขรณ์ต่อจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2539  จัดให้มีการเจริญพระพุทธมนต์สมโภชน์เป็นการภายใน ตลอด 7 เดือน 7 วัน คือ ตั้งแต่วันที่  22  กุมภาพันธ์  2540   ถึง วันที่  29  กันยายน  2540

ขณะเดียวกันได้จัดหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อพระชีว์ หน้าตัก  49 นิ้ว เป็นรูปจำลอง หล่อด้วยสัมฤทธิ์ สำเร็จเมื่อ วันที่  29  ตุลาคม  2540  พร้อมทั้งมีกำหนดงานฉลอง สมโภชน์ พระวิหาร และพุทธาภิเษก  พระรูปจำลองหลวงพ่อชีว์ เป็นครั้งยิ่งใหญ่  ในวันที่  9 กุมภาพันธ์  2541  โดยได้อาราธนา มหาเถระ  พระเกจิอาจารย์องค์สำคัญ  108 รูป  มาเจริญพระพุทธมนต์ และนั่งปรกพุทธาภิเษก  เป็นกรณีพิเศษด้วย  สำหรับหลวงพ่อพระชีว์องค์จำลองนี้  ประดิษฐานอยู่หน้าองค์ใหญ่ให้สาธุชน ทั่วไป ทำบุญปิดทองได้ง่ายและสะดวก  และเมื่อเทศกาลสงกรานต์ ก็เข้าขบวนแห่ไปรอบเมือง  เพื่อให้ประชาชนได้ถวายน้ำสรงโดยทั่วกัน

เป็นอันว่า พระวิหารที่ปฏิสังขรณ์ใหม่ ประดิษฐานหลวงพ่อพระชีว์อยู่นี้  เป็นปูชนียวัตถุ
ที่สวยงาม  ประดับวัดบูรพาราม  พระอารามหลวงแห่งแรกของจังหวัดสุรินทร์ และเป็นสง่าราศรีของบ้านเมืองต่อไปตลอดกาลนาน

Subscribe to this Blog via Email :